เสียงรบกวนในหู
การได้ยินเสียงเหมือนเสียงจักจั่นหรือเสียงลมในหูโดยไม่มีเสียงนั้นจริงๆ จากภายนอก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป บางคนอาจได้ยินเสียงเหมือนอยู่ในศีรษะหรือบอกตำแหน่งได้ไม่ชัด จากการสำรวจทั่วโลกพบว่ามีผู้ที่ได้ยินเสียงในหูประมาณ 15% ของประชากรในแต่ละประเทศ ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ทินไนตัส (Tinnitus) เมื่อเสียงกระทบหู คลื่นเสียงจะเคลื่อนที่จากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นใน ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินหรือโคเคลีย (Cochlea) หูชั้นในจะเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นคลื่นไฟฟ้า และส่งไปตามระบบประสาทการรับเสียงระดับต่างๆ จนถึงระดับสูงสุดของสมอง สมองระดับสูงสุดจะสั่งให้เกิดการตอบสนองต่อเสียง โดยแสดงออกทางระบบประสาทอัตโนมัติ ทางร่างกายและทางอารมณ์ เกิดจินตนาการต่างๆ ขึ้น เช่น ได้ยินเสียงสุนัขเห่าจะจินตนาการเห็นภาพสุนัขโดยที่ไม่เห็นตัว เด็กที่เคยถูกสุนัขกัดจะเกิดความกลัวขึ้นมาทันที รูปแบบการตอบสนองต่างๆ นี้ ถูกเก็บสะสมไว้ตั้งแต่แรกคลอดจนโต ทั้งเวลาตื่นและหลับ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงใหม่จะถูกเก็บสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบในสมองไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับเสียงที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่มีอันตรายต่อการดำรงชีวิตจะถูกละเลยไว้แค่สมองระดับล่างคือในระดับจิตใต้สำนึก ไม่เกิดปฏิกิริยาทางกายและอารมณ์ เสียงที่มีความสำคัญหรือคุกคามต่อการดำรงชีวิตจะถูกขยายให้เด่นขึ้นและเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ เช่น เราจะหันไปหาเสียงที่เรียกชื่อเราทันที แม้เสียงนั้นจะเบาและอยู่ในที่ที่มีเสียงจอแจ เมื่อได้ยินเสียงปืนหรือเสียงระเบิด หัวใจจะเต้นเร็ว ตื่นตัว และเอามืออุดหู หรือเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ เช่น ชายทะเล ในป่า เสียงลมพัด เสียงคลื่น เสียงนกร้อง จะทำให้เรามีอารมณ์ผ่อนคลาย จิตใจสงบ
CR: นพ. มานัต อุทุมพฤกษ์พร (https://www.หูอื้อหูตึง.com/เสียงในหู.html)